ยุวะกาชาดไทย
ประวัติยุวะกาชาดไทย
กิจการยุวกาชาดเป็นกิจกรรมสำหรับเยาวชนระหว่าง 7- 25 ปีได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2465 โดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต อุปนายกสภากาชาดสยามในขณะนั้น ด้วยทรงเห็นว่าสภากาชาดบางประเทศได้จัดตั้งกาชาดสำหรับเด็กขึ้นบ้างแล้ว จึงเห็นควรที่สภากาชาดสยามจะได้จัดตั้งขึ้นบ้าง จากวันนั้น ถึงวันนี้ กิจการยุวกาชาดได้มีพลวัตและนวัตกรรมมากมาย จากรุ่น สู่รุ่น ที่อยากถ่ายทอดให้รุ่นต่อไปได้ทราบ
ยุวกาชาดเกิดขึ้นจากมติที่ประชุมสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ เมื่อ ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะว่า “สภากาชาดทุกชาติควรจัดตั้งกาชาดสำหรับเด็ก เพื่อฝึกอบรมเยาวชนให้รู้จักการกินดี อยู่ดี รักษาสุขภาพอนามัย มีเมตตาสงสารเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าชาติ ศาสนาใดๆ มีศรัทธา เสียสละ และบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม โดยจัดกิจกรรมและดำเนินการให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาของแต่ละประเภท ดังนั้นเมื่อแรกก่อตั้ง มีชื่อว่า กองอนุสภากาชาดสยาม สภากาชาดไทยจึงได้ฝากกิจการยุวกาชาดไว้กับกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการได้ดูแลกิจการลูกเสืออยู่แล้ว โดยสภากาชาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต่อมาพุทธศักราช 2476 กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้กรมพลศึกษาเป็นผู้ดูแลกิจการยุวกาชาด โดยได้จัดสรรข้าราชการส่วนหนึ่งร่วมดำเนินการ มีผู้บริหารสูงสุดเป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ
กิจการยุวกาชาดได้เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ มีการพัฒนา เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงใหม่หลายด้านทั้งหลักสูตรการเรียน การสอน การจัดกิจกรรม ข้อบังคับต่างๆ รวมถึงกลุ่มเป้าหมาย เช่นเปลี่ยนชื่อจากกองอนุสภากาชาดสยาม เป็นกองอนุกาชาดกองยุวกาชาด และสำนักงานยุวกาชาด ตามลำดับ รวมถึงขยายอายุเยาวชนกลุ่มเป้าหมายจาก 7- 18 ปี เป็น 7-25 ปี
สภากาชาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินกิจการยุวกาชาดร่วมกันตลอดมานับจาก พ.ศ. 2465 จนกระทั่ง พ.ศ. 2546 รัฐบาลได้ปฏิรูประบบราชการ มีการยุบรวมหน่วยงานเข้าด้วยกัน ทำให้กรมพลศึกษาไปรวมอยู่กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และให้งานยุวกาชาด ลูกเสือ และสารวัตรนักเรียน ไปอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและยกฐานะเป็น สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน โดยได้ย้ายที่ทำงานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย จึงได้ย้ายกลับมายังสภากาชาดไทย และมี นายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์ เป็นผู้อำนวยการซึ่งนับได้ว่าเป็นผู้อำนวยการสำนักยุวกาชาดคนแรกที่เป็นบุคลากรสภากาชาดไทย
ปัจจุบัน กิจการยุวกาชาดจึงอยู่ในความดูแลของ 2 หน่วยงาน คือ สภากาชาดไทย โดยสำนักงานยุวกาชาดรับผิดชอบเยาวชนชายหญิง อายุระหว่าง 15-25 ปี ที่เรียกว่าอาสายุวกาชาด และกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักการลูกเสือยุวกาชาดและกิจการนักเรียน รับผิดชอบเยาวชนชายหญิง อายุระหว่าง 7- 18 ปี ที่เรียกว่าสมาชิกยุวกาชาดโดยทั้ง 2 หน่วยงานยังคงมีการประสานการดำเนินงานร่วมกัน
ภารกิจของยุวกาชาด
สำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานพัฒนาเยาวชนต่างๆ ในการเผยแพร่การกาชาดสู่เยาวชน ตามภารกิจหลัก 4 ประการ คือ
- มีอุดมคติในศานติสุข (Education for Peace)
- มีความชำนาญในการรักษาอนามัยของตนเอง และของผู้อื่น (Good Health)
- รู้จักบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น (Good Service)
- มีสัมพันธภาพอันดีกับบุคคลทั่วไป (International Friendship)
โดยนอกจากวัตถุประสงค์ยุวกาชาดสากลแล้ว ในข้อบังคับสภากาชาดไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 68 ) พุทธศักราช 2550 หมวดที่ 9 ว่าด้วยยุวกาชาด ยังได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ยุวกาชาดไทย ซึ่งมี 6 ประการ คือ
เพื่อฝึกอบรมให้เยาวชนชายและหญิง
- มีอุดมคติในศานติสุข มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
- มีความรู้ ความชำนาญในการรักษาอนามัยของตนเองและของคนอื่นตลอดจนการพัฒนาตนเองทางร่างกาย จิตใจ คุณธรรม และธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ
- มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการและอุดมการณ์กาชาด มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตใจเมตตา กรุณาต่อเพื่อนมนุษย์
- บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
- มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- มีสัมพันธ์ภาพและมิตรภาพที่ดีกับบุคคลทั่วไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น